สิทธิส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้ควรรู้

ในยุค 4.0 ที่สื่อมีอิทธิพลมากในชีวิตประจำวัน การรับรู้ข่าวสารส่วนใหญ่จึงมาจากโลกออนไลน์ที่ถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าโพสต์ผิดแชร์ผิดชีวิตเปลี่ยนไปทันที เพราะตอนนี้มีกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ บังคับใช้อย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน ต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาบนโลกออนไลน์ ว่าด้วยเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2560 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของคนโซเชียลอีกแล้ว ถ้าเผลอโพสต์และแชร์ในลักษณะใส่ร้ายคนอื่นโดยเรื่องเท็จต้องระวังคุกและค่าปรับ มาดูกันว่าเมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตท่องโลกออนไลน์ต้องพึงระวังเรื่องใดบ้าง

พฤติกรรมเสี่ยงโดนปรับ เสี่ยงติดคุกเพราะกระทำความผิดต่อสิทธิส่วนบุคคลบนโลกออนไลน์

  • เข้าระบบหรือข้อมูลของผู้อื่นโดยมิชอบ การเข้าไปเจาะข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท แต่ถ้าในกรณีที่เข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว มีความลงโทษคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • ตัดต่อแปลงภาพให้ผู้อื่นเสียหาย การสร้าง ตัดต่อ ดัดแปลงภาพของผู้อื่นแล้วโพสต์บนโลกออนไลน์จนทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง รวมถึงการโพสต์ภาพผู้เสียชีวิตที่ทำให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่าง บิดามารดา คู่สมรส บุตรต้องเสียชื่อเสียง ได้รับความอับอาย ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีและปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
  • โพสต์ด่าคนอื่นด้วยข้อความหมิ่นประมาท เป็นข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์กล่าวพาดพิงถึงใครให้คนอื่นฟัง เป็นการ “ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม” และข้อความที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่ดีต่อผู้ถูกกล่าวพาดพิง ทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ผู้โพสต์จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท
  • ถ่ายภาพผู้อื่นแล้วเผยแพร่ จนทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหาย การถ่ายภาพ วีดีโอโดยที่เจ้าของไม่อนุญาตถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล แล้วถ้านำไปเผยแพร่จะมีความผิดทางอาญาเพิ่มอีก และยิ่งเป็นภาพลามกยิ่งมีความผิดเพิ่มอีก หากเป็นคลิปที่ทำให้บุคคลในคลิปเกิดความเสียหาย เสียชื่อเสียง เจ้าตัวสามารถฟ้องร้องได้ หากนำไปเผยแพร่ในโลกออนไลน์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ไม่เพียงแค่การโพสต์เท่านั้นที่มีความผิด แต่หากเป็นการเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงด่า ประจาน จนทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือการใช้ถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์มุกตลกด้วยถ้อยคำหยาบคายทำให้ผู้นั้นต้องอับอายต้องระวังโทษด้วยเช่นกัน ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดสินจากสิ่งที่เห็นในทันที อย่าตีตราคนเพียงคนเดียวในสังคมโซเชียล ทั้งๆ ที่เขาไม่มีส่วนผิดอะไรเลยโดยที่เรายังไม่รู้แน่ชัด