ความหมายของสิทธิ
คำว่า สิทธิ เป็นสิ่งที่ประชาชนผู้ซึ่งระบุสัญชาติไทยพึงได้รับทั่วถึงกันตามกฎหมาย เป็นเกราะป้องกันจากสิ่งที่ไม่ยุติธรรมและมีความเป็นขอบเขตที่กล่าวถึงสิ่งที่ประชาชนพึงกระทำ ไม่พึงกระทำให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายและศีลธรรม โดยมีลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีเสรีภาพที่จะใช้สิทธิที่มีนั้นตามอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการบังคับใด ๆ โดยสามารถแบ่งสิทธิของประชาชนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ดังนี้
– สิทธิความเป็นมนุษย์
ตั้งแต่ลืมตาถือกำเนิดขึ้นมาเราทุกคนถือว่ามีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันหมด และมีสิทธิที่จะกระทำการใด ๆ ที่ถือเป็นการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ตราบใดที่ไม่ผิดต่อข้อกฎหมาย เช่น การมีบ้าน การเดินทาง การนับถือศาสนา การออกเสียงแสดงความคิดเห็น การเลือกที่จะลงหลักปักฐาน เป็นต้น โดยรัฐบาลหรือใครไม่มีสิทธิไปแทรกแซง
– สิทธิความเป็นพลเมือง
เป็นสิทธิที่พลเมืองไทยพึงได้รับตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน สิทธิตามกฎหมายของผู้บริโภค การชุมนุมหรือรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องบางอย่างที่ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและเสียหาย การมีสิทธิเสียงในการเลือกตั้งตลอดจนสิทธิเสียงในการคัดค้านเมื่อเกิดความไม่โปร่งใส ดังนี้เป็นต้น
– สิทธิความเสมอภาค
เป็นสิทธิที่เราทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติจากรัฐบาล เช่น ความเสมอภาคกันในสิ่งที่ควรได้รับอันได้แก่ สิทธิหรือความคุ้มครองต่าง ๆ การได้รับสิ่งของหรือบริการต่าง ๆ จากภาครัฐ เป็นต้น
ความหมายของสิทธิส่วนบุคคล
หมายถึง สิทธิส่วนตัวของประชาชนคนใดคนหนึ่งที่พึงกระทำโดยไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น การดำเนินชีวิตส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรถูกละเมิด ติดตาม สังเกต ตลอดจนกระทำการต่าง ๆ ที่ทำให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้หรือรบกวน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประจำพุทธศักราช 2550 มาตราที่ 35 ได้มีลายลักษณ์อักษรไว้ว่า
“ สิทธิของประชาชนหรือบุคคลที่พึงมี ทั้งชื่อเสียงเกียรติยศ การดำเนินชีวิตส่วนตัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การนำสิทธิส่วนตัวเหล่านี้ไปเผยแพร่แก่สาธารณชนโดยผู้อื่นไม่ว่าจะวิธีใดก็ตาม อันเป็นการละเมิดสิทธิหรือทำให้ผู้นั้นได้รับความเดือดร้อนกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติยศ การดำเนินชีวิตส่วนตัว จะกระทำมิได้ ยกเว้นแต่สิ่งที่กระทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและประเทศชาติ บุคคลนั้นมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายได้บัญญัติไว้ ”
ปัจจุบันนี้มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกันมากมายหลายทาง ยกตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลของผู้นั้นจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งไปเผยแพร่ในออนไลน์ บริษัทใช้กล้องหรือเครื่องตรวจจับการปฏิบัติงานของพนักงาน การนำข้อมูลและประวัติส่วนตัวของลูกค้าไปขายให้กับบริษัทอื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิในรูปแบบใดก็แล้วแต่ ผู้ถูกละเมิดนั้นสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ตามกฎหมายเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิที่ประชาชนชาวไทยพึงมีและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั่นเอง